วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557

สรุปข่าวเมื่อวาน 16/4/57

เจ้าหน้าที่เฟดประสานเสียงย้ำไม่ควรขึ้นดอกเบี้ย จนกว่า ศก.สหรัฐแกร่งเต็มที่


ผู้กำหนดนโยบายสองคนของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) กล่าวว่า เฟดไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าใกล้ภาวะแข็งแกร่งเต็มที่ โดยผู้กำหนดนโยบายสองคนนี้มีแนวคิดแบบสายพิราบหรือเป็นผู้ที่มักจะสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
        นายนารายานา โคเชอร์ลาโคทา ประธานเฟดสาขามินนิอาโปลิส กล่าวว่า "ถ้าหากเฟดให้สัญญาว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำ ถึงแม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไป ผมก็คิดว่าประชาชนจะมองว่า เฟดจะยังคงสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และผมคิดว่าเฟดจำเป็นต้องส่งสัญญาณแบบนี้ให้ดียิ่งขึ้น"
        นายโคเชอร์ลาโคทากล่าวว่า ถ้าหากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเชื่อว่าเฟดใกล้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พวกเขาก็อาจตัดสินใจออมเงินแทนที่จะจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
        นายโคเชอร์ลาโคทากล่าวว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำมากในปัจจุบันดังนั้นเฟดจึงสามารถดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินได้ต่อไป ถึงแม้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเฟดมีแนวโน้มที่จะจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเท่านั้น เมื่อถึงเวลาที่เฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
        อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือนที่แล้ว แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่เฟดตั้งไว้ที่ 2 % โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐอยู่ที่ 1.5 % เมื่อเทียบรายปี ในเดือนมี.ค. โดยปรับตัวขึ้นจาก 1.1 % ในเดือนก.พ.
        อัตราการว่างงานอยู่ที่ 6.7 % ขณะนี้ ซึ่งสูงกว่าระดับ 5-6%ที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าเป็นระดับปกติ
        ทางด้านนายเอริค โรเซนเกรน ประธานเฟดสาขาบอสตัน เสนอแนะว่าเฟดควรให้สัญญาว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับใกล้ 0 % จนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายด้านการจ้างงานและเป้าหมายภาวะเงินเฟ้อภายในเวลา 1 ปี
        นายโรเซนเกรนกล่าวว่า "ในทางอุดมคตินั้น สัญญาณชี้นำล่วงหน้าควรที่จะยังคงเป็นสัญญาณเชิงคุณภาพต่อไป แต่ควรจะมีการปรับสัญญาณชี้นำให้เชื่อมโยงกับความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายสองประการของเฟดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา"   
        นายโรเซนเกรน กล่าวว่า "สัญญาณชี้นำล่วงหน้าควรจะสอดคล้องกับการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำมาก จนกว่าเฟดจะมีแนวโน้มบรรลุเป้าหมายการจ้างงานเต็มที่และเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2 % ภายในเวลาหนึ่งปีข้างหน้า และสัญญาณชี้นำควรที่จะแสดงจุดประสงค์ดังกล่าวอย่างชัดเจน"
    ทั้งนายโรเซนเกรนและนายโคเชอร์ลาโคทาเคยสนับสนุนให้เฟดผ่อนคลายนโยบายการเงินลงมากกว่าที่เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่สนับสนุนกัน
        ในเดือนธ.ค. 2013 นายโรเซนเกรนเคยลงคะแนนเสียงคัดค้านการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ที่ต้องการให้เฟดเริ่มต้นปรับลดขนาดมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
        ในเดือนมี.ค.ปีนี้นายโคเชอร์ลาโคทาเป็นสมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) เพียงคนเดียวที่ลงคะแนนเสียงคัดค้านการตัดสินใจของเฟดที่ยุติการให้สัญญาที่ว่า เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำตราบใดที่อัตราการว่างงานยังคงอยู่สูงกว่าระดับที่กำหนดไว้
        ทั้งนายโคเชอร์ลาโคทาและนายโรเซนเกรนเคยกล่าวว่า เฟดควรจะถอนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างระมัดระวังเท่านั้น และเฟดควรจะใช้ความอดทนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับใกล้ 0 % โดยเฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.25 % นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2008 เป็นต้นมา
        นับตั้งแต่ปลายปี 2008 เป็นต้นมา เฟดใช้วิธีการที่แตกต่างกันหลายวิธีในการส่งสัญญาณบ่งชี้ว่า เฟดจะใช้เวลานานเพียงใดก่อนที่จะคุมเข้มนโยบายการเงิน โดยเฟดเคยนำอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำมากไปเชื่อมโยงกับกรอบเวลา และต่อมาเฟดก็นำอัตราดอกเบี้ยไปเชื่อมโยงกับเกณฑ์อัตราการว่างงานและเกณฑ์อัตราเงินเฟ้อที่เฉพาะเจาะจง นักลงทุนหลายคนเคยแสดงความสับสนต่อความพยายามของเฟดในการใช้วิธีการสื่อสารที่แตกต่างกันไป โดยในปีที่แล้วนายเบน เบอร์นันเก้ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเฟดในขณะนั้น ได้ส่งสัญญาณว่า เฟดจะปรับลดขนาด QE ลงในอนาคต และการส่งสัญญาณดังกล่าวก็ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมพุ่งขึ้นอย่างมากทั่วทั้งตลาด
        นางเจเน็ต เยลเลนได้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเฟดแทนที่นายเบอร์นันเก้ ในเดือนก.พ.ปีนี้ และในเดือนมี.ค.เฟดก็เริ่มต้นใช้สัญญาณชี้นำล่วงหน้าแบบใหม่ โดยเฟดให้สัญญาว่าเฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย "เป็นเวลานาน" หลังจากที่เฟดยุติการดำเนินมาตรการ QE ทั้งหมดแล้ว
        อย่างไรก็ดี นางเยลเลนได้สร้างความสับสนต่อตลาดเมื่อกล่าวว่า คำว่า  "เป็นเวลานาน" ในแถลงการณ์เฟดอาจจะหมายถึงระยะเวลาราว 6 เดือน ทางด้านนายโคเชอร์ลาโคทาส่งสัญญาณเมื่อวานนี้ว่า อัตราดอกเบี้ยควรจะทรงตัวที่ระดับต่ำเป็นเวลานานกว่า 6 เดือน ถ้าหากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำ
        นายโคเชอร์ลาโคทากล่าวว่า "ผมสามารถกล่าวได้ว่า ผมมีความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งใดก็ตามที่จำเป็นต้องทำเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ใกล้ 2 % และ ถ้าหากเราเริ่มเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อเริ่มพุ่งขึ้นเหนือระดับปัจจุบันที่ 1 % และ มีแนวโน้มเข้าใกล้ 2 % หรือพุ่งขึ้นเหนือ 2 % เมื่อนั้นก็จะเป็นเวลาสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย"
        อย่างไรก็ดี นายโคเชอร์ลาโคทากล่าวเสริมว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ต่ำกว่า 2 % เป็นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
        ทางด้านนางเยลเลนกล่าวเมื่อวานนี้ว่า เฟดกำลังพิจารณามาตรการต่อไปในการบังคับให้ธนาคารขนาดใหญ่ดำรงเงินกองทุนมากยิ่งขึ้น และเฟดมองว่ามีเหตุผลในการดำเนินมาตรการส่งเสริมเสถียรภาพเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจอื่นๆในย่านวอลล์สตรีทที่ไม่อยู่ภายใต้กฎระเบียบมากนัก
        นางเยลเลนไม่ได้กล่าวถึงนโยบายการเงินเมื่อวานนี้ แต่เป็นที่คาดกันว่าเขาจะกล่าวถึงนโยบายการเงินในการกล่าวแถลงต่อสโมสรเศรษฐกิจนิวยอร์คในวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น